คุณลุงสมบัติ โชคไชยกุล : ทำธุรกิจส่วนตัวทางด้านภูมิสถาปัตยกรรม
ทำไมถึงเลือกเรียนคณะสถาปัตย์ :
“มีพี่ชายแถวบ้านเรียนคณะนี้อยู่ เห็นว่าเรียนสนุกดี แล้วเราก็ชอบวาดรูปอยู่แล้วด้วย อีกอย่างมีเพื่อนที่โรงเรียนเดียวกันก็มีสอบเข้าคณะสถาปัตย์เหมือนกัน ก็เลยสอบเข้าไป แล้วก็เลยติด”
“เรียนลาดกระบัง เป็นรุ่นที่เรียนก่อนรุ่นแรก เรียนที่วิทยาลัยการก่อสร้างครึ่งปี แล้วก็ย้ายไปเรียนที่ลาดกระบัง เพราะฉะนั้นยังไม่เป็นรุ่นหนึ่งเลยต้องหลังจากนี้ไปถึงจะเป็นรุ่นที่ 1”
“ลุงไม่ได้จบแค่ที่เทคโนอย่างเดียวลุงไปจบที่ฟิลิปปินส์ด้วย เพราะเทคโนตอนแรกเรียนแค่ 3 ปี เป็นอนุปริญญา แล้วค่อยมาสอบเข้าอีกทีนึงเพื่อจะเป็นปริญญาตรี แต่ว่าเราสอบไม่ได้ เห็นว่าพวกรุ่นเดียวกันมันไปเรียนที่ฟิลิปปินส์กันหมดเลย ก็เลยไปเรียนต่อด้านในสาขาเดิม คือ สถาปัตยกรรม”
หลักสูตรจากวิทยาลัยการก่อสร้างเป็นหลักสูตรเดียวกับที่เทคโนรึเปล่า:
“หลักสูตรจากวิทยาลัยการก่อสร้างตอนนั้นสามารถต่อเนื่องกันได้ แต่หลักสูตรของวิทยาลัยนั้นจะเข้มข้นกว่าของเทคโนสมัยนี้เยอะ เพราะฉะนั้นเด็กที่จบจากวิทยาลัยการก่อสร้างนั้นเป็นสถาปนิกได้เลย แม้จะเรียนแค่ 3 ปี เพราะมีวิทยานิพนธ์เหมือนกัน เด็กที่จบมาสามารถทำงานได้ดีแต่ไม่ใช้เน้นในเรื่องลักษณะการออกแบบจะเป็นแนวการควบคุมงาน บริหารการก่อสร้างมากกว่า ส่วนพวกจุฬาฯนี่ก็จะหนักไปทางออกแบบ ส่วนศิลปากรจะเป็นไปทางออกแบบด้วย ควบคุมงานก่อสร้างด้วยจะเน้นหนักไปคนละแบบ”
สมัยนั้นจบ 3 ปีสอบใบประกอบวิชาชีพเลยรึเปล่า:
“สอบไม่ได้ สมัยนั้นยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพ จำไม่ได้ว่ามีตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ก็นานแล้ว ตอนหลังเพิ่งจะมีสอบเมื่อก่อนเราไม่ต้องสอบแค่จบจากสถาบันที่มีการรับรองก็ได้ใบเลย”
บรรยากาศตอนสมัยเรียน:
“สมัยลุงเรียน อาจารย์จิ๋วเป็นคนไปเชิญอาจารย์พิเศษมาสอนพวกเรา เพราะพวกเราอยู่ไกล แต่พอเชิญมาพวกเด็กก็ไม่เรียนกัน มีเรียนกันอยู่ 4-5 คน แกก็จะด่าคำหยาบๆแบบของแก แต่ใครๆก็รักแก แกกลายเป็นสัญลักษณ์ของคณะไปแล้ว”
จบมาใหม่ๆทำงานอะไร:
“จบมาแรกๆทำงานที่บริษัทเกี่ยวกับประตูหน้าต่างเหล็ก ไปเรียนแบบเป็นดราฟ ออกแบบพวกประตูหน้าต่างเหล็ก ทำงานได้สักระยะ อาจารย์ก็เรียกกลับไปช่วยงาน ก็กลับไปเป็นสถาปนิก แต่ว่าไปเป็นดราฟแมนก่อน เป็นอยู่ประมาณปีครึ่งก็ลาออกไปเรียนหนังสือต่อ พอเรียนหนังสือจบก็กลับมาทำงานที่บริษัท ดีไซน์ 103 ทำงานกับคุณชัชวาล ตอนนั้น บริษัท ดีไซน์ 103 ยังเป็นบริษัทเล็กๆ มีคนอยู่ 20 คน ภรรยาลุงก็เป็นมัณฑนากรอยู่ที่บริษัทนั้นเหมือนกันก็ไปเจอกันที่นั่น ตอนนั้นคนมันน้อยถึงจะทำงานเป็นระบบก็จริง แต่ก็เข้าถึงกันหมด รู้จักเขารู้จักเรา มีการแบ่งแยกแผนกกันก็จริง แต่ความสัมพันธ์ก็ยังมี แต่ว่าพอเป็นบริษัทเสร็จใหญ่ขึ้นมา ความห่างเหินมันก็มี พอใช้คอมพิวเตอร์ก็ยิ่งห่างเหินมีปฎิสัมพันธ์กันน้อยลง ไม่เหมือนเมื่อก่อน พอมีประชุมที่ก็เอาแบบมากางแล้วก็ร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ไขปัญหา หลังจากนั้นบริษัทก็โตเร็วมาก จนขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของเมืองไทย แต่พอเจอวิกฤตเศรษฐกิจเข้าก็ลดลงมาเหลือเล็กนิดเดียว ตอนหลังเศรษฐกิจดีขึ้นก็กลับมาใหม่”
“เราเองที่เป็นสถาปนิก บางที่เราเองก็นึกว่าเราเองนั้นเก่งแต่บางทีการที่จะไปทำงานในระดับที่ไปต่อสู้กับคนข้างนอกนั้น ทั้งในระดับของ AEC หรืออะไรก็แล้วแต่ บางครั้งการเรียนรู้ Know How ของเขา เพื่อที่เราจะมาพัฒนาตัวเองมันเร็วกว่าที่เราจะคลำเอง ก็เหมือนกับเราไม่รู้จักช้างคลำไปก็ไม่รู้ว่ามันเป็นช้าง แต่พอฝรั่งบอกว่านี่แหละช้าง ช้างมัน มีงวง มีหาง มีหู พอเราคลำตามเขาได้เราก็สามารถเรียนรู้ได้เร็ว แต่สมัยนั้นเราไม่ยอมรับเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่นคุณชัชวาลของบริษัท ดีไซน์ 103 ที่มีหัวก้าวหน้าก็ไปเรียนรู้เรื่องดีไซน์ เรื่องเทคโนโลยีอะไรหลายๆอย่าง แล้วนำมาพัฒนาบริษัทให้มีมาตรฐาน จนเรียกได้ว่าเป็นบริษัทที่มีการเขียนแบบได้มาตรฐานที่สุดในประเทศไทย ในสมัยนั้น”
“พอทำงานที่ ดีไซน์ 103 ได้ประมาณ 3 ปี ก็ออกมาทำงานเอง พอดีบ้านของภรรยาทำเรื่องต้นไม้อยู่ พอมาเยอะๆขึ้นเราก็ออกมาทำแบบเต็มตัว ร้านเป็นมา 30 ปีแล้ว ย้ายร้านมาเยอะ ตั้งแต่ รามคำแหง 36 ย้ายไปพัฒนาการ 26 จนมาถึงที่นี่เสรีไทย เหตุผลที่ย้ายไม่ใช่ขยายเพิ่ม แต่เป็นเพราะเราไปเช่าที่เขาอยู่ เขาจะเอาที่คืนเลยต้องย้าย”
“รุ่นพี่ผมที่เข้าสถาปัตย์จุฬาฯได้นี่สอบเข้าได้ที่หนึ่งเลยนะ แต่ว่าพอมาทำงานเขามีผลงานเป็นสถานีรถไฟสามเสน แต่หลังจากนั้นก็เขาก็เงียบหายไปเลย ดังนั้นงานในวงการสถาปนิกมันไม่ได้ง่ายๆ ดูแล้วมันน่าจะดี แต่พอถึงเวลาจริงๆแล้วมันแป๊กง่าย"
งานออกแบบที่ชอบที่สุดคือชิ้นไหน:
งานออกแบบที่ชอบที่สุดคือชิ้นไหน:
”งานสถาปัตย์ตอนที่ทำมันก็ไม่ได้มีโปรเจคอะไรที่มันน่าสนใจ ที่น่าสนใจที่สุดก็คงเป็นบ้านตัวเองนี่แหละ”
อุปสรรคสำคัญในการทำงาน:
“เจ้าของงานยังไม่มีความเข้าใจในวิชาชีพเราชัดเจน เจ้าของเราเห็นว่าเราเป็นแค่ที่ปรึกษาด้านการใช้งาน แต่จริงๆแล้วการทำงานของเราไม่ได้มองแค่มิติเดียว ไม่ได้มองแค่อาคารนี้สามารถตอบสนองในเรื่องที่เขาอยากได้ เรามองทั้งด้านความแข็งแรง ความงาม และยังต้องคิดเรื่องที่ว่ามีการตอบสนองที่ดีต่อสังคมด้วย อย่างน้อยก็บริบทรอบๆตัวมันเอง อีกอย่างหนึ่งก็คือ งานสถาปัตย์ไม่ควรจะตอบโจทย์เพียงแค่เจ้าของควรจะตอบโจทย์โลกทั้งโลกให้มันสอดคล้องเป็นเรื่องราวเดียวกัน ไม่ใช่อยากจะทำอะไรก็ทำ เหมือนกัน Zaha ที่ทำอาคารบิดไปโค้งมา แต่ทรัพยากรที่ลงทุนไปกับฟังก์ชันตรงนั้นนี่มันคุ้มค่ากันมั้ย อันนี้ลุงไม่เห็นด้วยที่ว่าเราจะต้องทำอาคารที่ต้องลงทุนกันมหาศาล เอาทรัพยากรไม่ว่าเหล็ก หิน ทราย หรือผู้คน ไปทำมิวเซียมซักอันนึง เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ได้กลับมานั้นมันคืออะไร? แต่หลายคนก็มองว่าเป็นก็เป็นเหมือนแม่เหล็กดูดคนให้เข้าไปตรงนั้น แต่มันคุ้มค่ามั้ยกับการที่คุณทำงานที่มีมูลค่าขนาดนั้น แต่ยังไม่แน่ใจเลยว่ามันสามารถจะตอบโจทย์ว่าจะทำให้ผู้คนสนใจขึ้นมาได้รึเปล่า”
“จริงๆแล้วสถาปัตยกรรมไม่ได้ตอบโจทย์ทางด้าน Marketing เลยนะ สมมติเรามองซีคอนสแควร์เทียบกับเสรีเซ็นเตอร์ในสมัยนั้น เสรีเซ็นเตอร์ในความคิดของลุงคือมันออกแบบได้ดีทุกอย่างดีหมดเลย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ นี่คือสถาปัตยกรรมไม่ได้ตอบ Marketing คนที่ลงทุนต้องการจะตอบ Marketing แน่ๆ แต่ก็ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะฉะนั้นการลงทุนบางทีมูลค่ามันก็มหาศาลเกินไป แต่ในปัจจุบันก็มีสถาปัตยกรรมที่ยิ่งแล้วใหญ่ คือ ลงทุน 10 ปี แล้วทุบทำใหม่เลยก็มี นี่ก็เป็นเรื่องของสถาปัตยกรรมที่เราต้องคิดว่าต้องสร้างงานให้มัน Sustainable คิดให้ดีว่ามันคุ้มรึเปล่ากับการลงทุนเดี๋ยวนี้คนอาจจะคิดเรื่องนี้ไม่มาก เพราะฉะนั้นงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เนี่ย เป็นรูปแบบฟรีฟอร์ม ไม่มีโครงหรือความเป็นแก่นแกนของสถาปัตยกรรมเลย มันเป็นอะไรก็ไม่รู้ที่ลื่นไหล ลุงเรียกว่ามันเป็น กราฟฟิคอาคีเทค คืออาคารที่ไม่สนใจว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นยังไง กูจะตั้งของกูอย่างนี้ แล้วก็บอกว่านี้ คือ อนุสาวรีย์ พอคนมาเห็นมากๆเข้าก็ทำตามกันใหญ่”
เด็กสถาปัตย์ลาดกระบังจบใหม่เป็นยังไงค่ะ:
“ก็น่าจะเหมือนกับหลายๆสถาบันนะ คือขาด Detail ให้คิด Design น่ะเป็นเรื่องง่าย แต่ Detail Designสีเป็นเรื่องยาก เวลาคิดก็คิดไปเถอะเส้นโค้งทั้งหลายทั้งแหล่ แต่พอเข้า Detail เท่านั้นแหละ จะทำยังไงไม่ให้น้ำรั่ว จะทำยังไงให้กระจกมันเข้ากันได้พอดี บางทีความไม่ลงตัวมันก็ฟ้องอะไรหลายๆอย่างในตัวสถาปนิกรุ่นใหม่ๆ อาจจะแตกต่างกันต้องที่ว่า ลาดกระบังอาจจะถึกกว่า ทนกว่า เพราะเท่าที่ดูเด็กลาดกระบังเราไม่ค่อยเลือกงานที่จะทำ”
“กลัวเรื่องความรับผิดชอบของเด็กสมัยนี้มาก เพราะว่าความอดทนน้อย มีพี่ช่วยเยอะ เวลาทำงานจริงๆแล้วเนี่ยวิชาชีพนี้ไม่ใช่อะไรที่ง่าย ต้องใช้ความอดทนสูง และต้องใช้ความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาในการทำงาน เหมือนเวลาพวกเราทำโปรเจคน่ะ ประเภทไฟไม่ลนก้นไม่ยอมทำงาน จนเป็นกิจวัตร อันที่จริงก็ไม่ใช้นิสัยการทำงานที่ดีหรอกนะ”
“กลัวเด็กรุ่นใหม่ในเรื่องของการตัดสินใจ เพราะอาชีพเราเทียบกับหมอนี่ ความรับผิดชอบเรื่องชีวิตคนนี่เยอะนะ ตึกหลังหนึ่งมีคนอาศัยอยู่อย่างน้อยๆก็ 4-5 คนแล้ว แต่หมอนี่ทีละคน เวลาเรารับผิดชอบตึกถล่มหลังนึงเยอะเลยใช่มั้ย ดังนั้นเรื่องการรับผิดชอบและเรื่องทักษะการเรียนรู้นี่สำคัญ”
T-Shirt | T-Shirt - Titanium Elements
ตอบลบT-Shirt. titanium stud earrings T-Shirt. T-Shirt. anodizing titanium T-Shirt. T-Shirt. T-Shirt. T-Shirt. T-Shirt. snow peak titanium T-Shirt. T-Shirt. T-Shirt. T-Shirt. ford fusion titanium T-Shirt. sugarboo extra long digital titanium styler T-Shirt. T-Shirt. T-Shirt.