เรือนขนมปังขิง (Ginger Bread Style)
เราคงคุ้นตากับสถาปัตยกรรมที่มีการประดับตกแต่งด้วยไม้ที่ฉลุด้วยลวดลายต่างๆ ทั้งบริเวณช่องลม ราวระเบียง เชิงชายหรือหน้าบัน แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่าสถาปัตยกรรมลักษณะนี้เรียกว่าสถาปัตยกรรมแบบ บ้านขนมปังขิง (Gingerbread Style) ซึ่งลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมลักษณะนี้ก็เป็นดังที่กล่าวไว้ข้างต้น คือ มีการประดับตกแต่งด้วยลวดลายไม้ฉลุต่างๆ ไว้ตามส่วนประกอบของอาคาร
ทำไมถึงเรียกขนมปังขิง???
ขื่อนี้แปลตรงตัวมาจากขนม "Ginger Bread" ที่ชาวยุโรปในบ้านเรามักจะใช้ประดับในขนมบ้านตุ๊กตาฉลองในเทศกาลคริสต์มาส ซึ่งตุ๊กตาและลวดลายประดับอยู่บนบ้านตุ๊กตามีรูปทรงลักษณะละเอียดละออ เป็นเส้นโค้งหงิกงอคล้ายแง่งขิง พอนำมาประดับตกแต่งอาคารที่พักอาศัยจึงเรียกบ้านสไตล์นี้ว่า"บ้านขนมปังขิง" ตามชื่อ
เรือนขนมปังขิงมาจากไหน???
ต้นแบบนั้นมาจากบ้านสไตล์วิคตอเรียนในประเทศอังกฤษ และได้แพร่หลายเข้ามาในประเทศของเราหลังจากที่ชาวต่างชาติเริ่มเข้ามามี บทบาทในประเทศช่วงราวรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา โดยเริ่มต้นจากที่รัชกาลที่ 4 ทรงศึกษาภาษาอังกฤษและติดต่อค้าขายกับต่างชาติ และทรงสร้างเรือนปั้นหยาไว้ในเขตพระราชวังต่างๆก่อน จุดเด่นของหลังคาปั้นหยาคือ ชายคาที่คลุมรอบ 4 ด้าน ต่างจากเรือนไทยเดิม ซึ่งเป็น ชายคา 2 ด้าน มีหน้าจั่ว จากเรือนปั้นหยาก็วิวัฒนาการมาเป็นเรือนมนิลา มีจั่วด้านหน้า 1 ด้าน และชายคาคลุม 3 ด้าน แล้วต่อมาก็มีการสร้างบ้านพักของสถานทูตฝรั่งเศส เป็นบ้านสไตล์วิคตอเรียน ที่สร้างในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ประดับตกแต่งด้วยฉลุไม้ที่ระเบียงและส่วนต่างๆของบ้าน ซึ่งชาวไทยเองก็ชื่นชอบความงดงามของลวดลายไม้แกะสลักจนเกิดเป็นกระแสนิยมนำเอา ลวดลายขนมปังขิงมาประดับที่บ้านเรือนของเราบ้าง โดยความนิยมนั้นก็เริ่มต้นขึ้นจากพระราชวัง บ้านขุนนาง เศรษฐี คหบดี และตามวัดวาอารามต่างๆความนิยมก็มาสู่พ่อค้า คหบดี ในช่วงนั้นกรุงเทพฯ ก็จะมีบ้านในสไตล์นี้สร้างตามกันมามากมาย รวมทั้งรูปแบบที่เน้นการประดับลวดลายฉลุไม้ ที่เรียกว่า เรือนขนมปังขิง
แม้จะนำแบบมาจากบ้านสไตล์ต่างประเทศ แต่ก็ใช่ว่าบ้านแบบขนมปังขิงนี้จะไม่เข้ากับประเทศไทย เพราะลวดลายแกะสลักนั้นทำหน้าที่เป็นช่องลมได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีความอ่อนช้อยงดงามเหมาะกับความประณีตละเอียดอ่อนของคนไทยอีกด้วย บางหลังก็มีการดัดแปลงเป็นลายไทยแทนลายฝรั่งทำให้เกิดความงดงามมากขึ้นไปอีก บ้านแบบนี้จึงได้รับความนิยมอย่างสูง มาตั้งแต่นั้น นอกจากบ้านแล้ว งานในลักษณะนี้ยังมีการดัดแปลงมาทำเฟอร์นิเจอร์ต่างๆอีกด้วย จนถึงช่วงปลายรัชกาลที่ 6 ความนิยมก็เริ่มซาลง ไม้เริ่มมีราคาแพงขึ้น ความนิยมเริ่มเปลี่ยนไป เป็นเน้นการออกแบบหลังคาซ้อน หรือจั่วตัดแทน จนในสมัยรัชกาลที่ 7 บ้านก็เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ มีรูปแบบเรียบง่าย ลดความหรูหราฟุ่มเฟือยออก ก็คงจะอิทธิพลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมของทางตะวันตกนั่นเอง และการเปลี่ยนแปลงก็ยังมีเรื่อยมา จนในสมัยนี้บ้านขนมปังขิงที่หลงเหลืออยู่บ้าง ก็ทรุดโทรม รื้อถอนไปมาก จนหาชมได้ยาก เพราะความเจริญรุกรานมาเรื่อย การบูรณะซ่อมแซม ทำยากและค่าใช้จ่ายสูง จนไม่คุ้มที่จะเก็บรักษาหรืออนุรักษ์ไว้ใช้งาน แต่บ้านที่ยังหลงเหลืออยู่นั้น คนสมัยนี้ที่ไม่รู้ประวัติ ก็จะคิดว่าเป็นบ้านไทยโบราณแบบหนึ่ง
แตกต่างกันตรงไหน???
ความแตกต่างของรูปแบบบ้านขนมปังขิง ว่าแตกต่างกับรูปแบบโคโลเนียลและชิโนโปรตุกีสอย่างไร อาคารทั้งสามแบบเป็นอาคารที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกทั้งสิ้น โดยรูปแบบบ้านขนมปังขิงนั้นจะมีจุดเด่นตรงที่ประดับประดาอาคารด้วยไม้ฉลุลวดลายต่าง ทั้งบริเวณหน้าจั่ว ชายคา ค้ำยัน ช่องลม สถาปัตยกรรมรูปแบบของชิโนโปรตุกีสนั้นจะเป็นลักษณะของตึกแถว เป็นการผสมกันระหว่างสถาปัตยกรรมของโปรตุเกสและจีนเข้าด้วยกัน สุดท้ายเป็นลักษณะของอาคารสไตล์โคลโลเนียล จะเป็นลักษณะที่กว่าที่สุด เพราะสไตล์โคโลเนียลนั้นมีหลากหลายขึ้นกับชาวต่างชาติที่มาสร้างไว้ มีทั้งสไตล์อังกฤษ ฮอลันดา ฝรั่งเศส สเปน เป็นต้น
ตัวอย่างรูปแบขนมปังขิง ชิโนดปรตุกีส และโคโลเนียล ตามลำดับ |
ขนมปังขิงในประเทศไทยอยู่ที่ไหนบ้าง???
รูปแบบของเรือนขนมปังขิงในประเทศไทยปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นบ้านของคหบดี หรือเชื้อพระวงศ์ เนื่องจากเป็นอาคารที่ต้องใช้ช่างฝีมือในการก่อสร้าง และบำรุงรักษายาก ตัวอย่างเรือนขนมปังขิงในประเทศไทย เช่น
พระที่นั่งวิมานเมฆ
พระที่นั่งองค์นี้ ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุโรป ผสมกับไทยประยุกต์ องค์พระที่นั่งเป็น มี 4 ชั้น ชั้นล่างสุดก่ออิฐ ถือปูน ชั้นถัดขึ้นไปสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหมดทาด้วยสีครีมอ่อนหลังคาสีแดง และหลังคาเป็นทรงไทยประยุกต์ มีลวดลายตามหน้าต่าง และช่องลมซึ่งฉลุเป็นลาย
พระที่นั่งอภิเศกดุสิต
เป็นพระที่นั่งองค์แรกๆ ที่สร้างขึ้นในเขตพระราชวังดุสิต เป็นพระที่นั่งชั้นเดียว ประดับไปด้วยสร้างด้วยไม้เป็นส่วนมาก มีลวดลายฉลุไม้เรียกว่า ลายบุหงา มีการประดับกระจกสี และลวดลายปูนปั้นที่หน้าบัน
พิพิธภัณฑ์บ้านเอกะนาค มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
บ้านเรือนไทยทรงปั้นหยา อาคาร 2 ชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเป็นไม้ หลังคามุงกระเบื้องว่าว ด้านซ้ายของอาคารมีโปร่งยื่นออกมาแบบพระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งถือเป็นแบบที่ได้รับความนิยมมากในสมัยนั้น ลักษณะของการก่อสร้างได้รับอิทธิพลจากตะวันตกผสมผสานลวดลายฉลุ
ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร
ตั้งอยู่ขวามือเมื่อเข้าจากหน้าวัด เป็นตำหนัก สองชั้นแบบตึกฝรั่งปนไทย มุขหน้าประดับด้วยลวดลายไม้ฉลุงดงาม
ตำหนักนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงสร้างถวายเป็นท้องพระโรง ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา วชิรญาณวโรรส
เรือนขนมปังขิงนี้เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีการพัฒนารูปแบบจนกลายเป็นอีกหนึ่งรูปแบบสถาปัตยกรรมของไทย เราจึงควรที่จะอนุรักษ์เรือนลักษณะนี้ที่ยังหลงเหลืออยู่ไว้ เนื่องจากปัจจุบันเรือนขนมปังขิงมีจำนวนน้อยลง เนื่องจากเป็นรูปแบบที่ต้องใช้ความประณีตในการก่อสร้างสูง ทำให้การบูรณะซ่อมแซมอาคารเก่าต้องใช้งบประมาณที่สูงไปด้วย
น.ส.นานา บุญรอดชู
52020044
อ้างอิงจาก:
http://atcloud.com/stories/71680
http://community.akanek.com/th/inspiration/ginger-bread-house-architecture-in-thailand
http://turtletanawan.blogspot.com/2010_09_01_archive.html
http://th.wikipedia.org/wiki/พระที่นั่งวิมานเมฆ
http://th.wikipedia.org/wiki/พระที่นั่งอภิเศกดุสิต
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=travelaround&date=17-03-2008&group=7&gblog=10
http://www.decorreport.com/a19384-บ-านขนมป-งข-ง-ginger-bread-style-house
http://www.komchadluek.net/detail/20120624/133512/บ้านเอกะนาค:ศูนย์กรุงธนบุรีศึกษา.html#.URE68fJ5Agk
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9530000033251
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=810945
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น