วันศุกร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สถาปนิก IDOL

คุณลุงสมบัติ โชคไชยกุล : ทำธุรกิจส่วนตัวทางด้านภูมิสถาปัตยกรรม

ทำไมถึงเลือกเรียนคณะสถาปัตย์
:
“มีพี่ชายแถวบ้านเรียนคณะนี้อยู่ เห็นว่าเรียนสนุกดี แล้วเราก็ชอบวาดรูปอยู่แล้วด้วย อีกอย่างมีเพื่อนที่โรงเรียนเดียวกันก็มีสอบเข้าคณะสถาปัตย์เหมือนกัน ก็เลยสอบเข้าไป แล้วก็เลยติด”
เรียนลาดกระบัง เป็นรุ่นที่เรียนก่อนรุ่นแรก เรียนที่วิทยาลัยการก่อสร้างครึ่งปี แล้วก็ย้ายไปเรียนที่ลาดกระบัง เพราะฉะนั้นยังไม่เป็นรุ่นหนึ่งเลยต้องหลังจากนี้ไปถึงจะเป็นรุ่นที่ 1”
ลุงไม่ได้จบแค่ที่เทคโนอย่างเดียวลุงไปจบที่ฟิลิปปินส์ด้วย เพราะเทคโนตอนแรกเรียนแค่ 3 ปี เป็นอนุปริญญา แล้วค่อยมาสอบเข้าอีกทีนึงเพื่อจะเป็นปริญญาตรี แต่ว่าเราสอบไม่ได้ เห็นว่าพวกรุ่นเดียวกันมันไปเรียนที่ฟิลิปปินส์กันหมดเลย ก็เลยไปเรียนต่อด้านในสาขาเดิม คือ สถาปัตยกรรม


หลักสูตรจากวิทยาลัยการก่อสร้างเป็นหลักสูตรเดียวกับที่เทคโนรึเปล่า:
หลักสูตรจากวิทยาลัยการก่อสร้างตอนนั้นสามารถต่อเนื่องกันได้ แต่หลักสูตรของวิทยาลัยนั้นจะเข้มข้นกว่าของเทคโนสมัยนี้เยอะ เพราะฉะนั้นเด็กที่จบจากวิทยาลัยการก่อสร้างนั้นเป็นสถาปนิกได้เลย แม้จะเรียนแค่ 3 ปี เพราะมีวิทยานิพนธ์เหมือนกัน เด็กที่จบมาสามารถทำงานได้ดีแต่ไม่ใช้เน้นในเรื่องลักษณะการออกแบบจะเป็นแนวการควบคุมงาน บริหารการก่อสร้างมากกว่า ส่วนพวกจุฬาฯนี่ก็จะหนักไปทางออกแบบ ส่วนศิลปากรจะเป็นไปทางออกแบบด้วย ควบคุมงานก่อสร้างด้วยจะเน้นหนักไปคนละแบบ
สมัยนั้นจบ 3 ปีสอบใบประกอบวิชาชีพเลยรึเปล่า:
“สอบไม่ได้ สมัยนั้นยังไม่มีใบประกอบวิชาชีพ จำไม่ได้ว่ามีตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ก็นานแล้ว ตอนหลังเพิ่งจะมีสอบเมื่อก่อนเราไม่ต้องสอบแค่จบจากสถาบันที่มีการรับรองก็ได้ใบเลย”
บรรยากาศตอนสมัยเรียน:
 “สมัยลุงเรียน อาจารย์จิ๋วเป็นคนไปเชิญอาจารย์พิเศษมาสอนพวกเรา เพราะพวกเราอยู่ไกล แต่พอเชิญมาพวกเด็กก็ไม่เรียนกัน มีเรียนกันอยู่ 4-5 คน แกก็จะด่าคำหยาบๆแบบของแก แต่ใครๆก็รักแก แกกลายเป็นสัญลักษณ์ของคณะไปแล้ว
จบมาใหม่ๆทำงานอะไร:
“จบมาแรกๆทำงานที่บริษัทเกี่ยวกับประตูหน้าต่างเหล็ก ไปเรียนแบบเป็นดราฟ ออกแบบพวกประตูหน้าต่างเหล็ก ทำงานได้สักระยะ อาจารย์ก็เรียกกลับไปช่วยงาน ก็กลับไปเป็นสถาปนิก แต่ว่าไปเป็นดราฟแมนก่อน เป็นอยู่ประมาณปีครึ่งก็ลาออกไปเรียนหนังสือต่อ พอเรียนหนังสือจบก็กลับมาทำงานที่บริษัท ดีไซน์ 103 ทำงานกับคุณชัชวาล ตอนนั้น บริษัท ดีไซน์ 103 ยังเป็นบริษัทเล็กๆ มีคนอยู่ 20 คน ภรรยาลุงก็เป็นมัณฑนากรอยู่ที่บริษัทนั้นเหมือนกันก็ไปเจอกันที่นั่น ตอนนั้นคนมันน้อยถึงจะทำงานเป็นระบบก็จริง แต่ก็เข้าถึงกันหมด รู้จักเขารู้จักเรา มีการแบ่งแยกแผนกกันก็จริง แต่ความสัมพันธ์ก็ยังมี แต่ว่าพอเป็นบริษัทเสร็จใหญ่ขึ้นมา ความห่างเหินมันก็มี พอใช้คอมพิวเตอร์ก็ยิ่งห่างเหินมีปฎิสัมพันธ์กันน้อยลง ไม่เหมือนเมื่อก่อน พอมีประชุมที่ก็เอาแบบมากางแล้วก็ร่วมกันทำ ร่วมกันแก้ไขปัญหา หลังจากนั้นบริษัทก็โตเร็วมาก จนขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของเมืองไทย แต่พอเจอวิกฤตเศรษฐกิจเข้าก็ลดลงมาเหลือเล็กนิดเดียว ตอนหลังเศรษฐกิจดีขึ้นก็กลับมาใหม่
“เราเองที่เป็นสถาปนิก บางที่เราเองก็นึกว่าเราเองนั้นเก่งแต่บางทีการที่จะไปทำงานในระดับที่ไปต่อสู้กับคนข้างนอกนั้น ทั้งในระดับของ  AEC หรืออะไรก็แล้วแต่ บางครั้งการเรียนรู้ Know How ของเขา เพื่อที่เราจะมาพัฒนาตัวเองมันเร็วกว่าที่เราจะคลำเอง ก็เหมือนกับเราไม่รู้จักช้างคลำไปก็ไม่รู้ว่ามันเป็นช้าง แต่พอฝรั่งบอกว่านี่แหละช้าง ช้างมัน มีงวง มีหาง มีหู พอเราคลำตามเขาได้เราก็สามารถเรียนรู้ได้เร็ว แต่สมัยนั้นเราไม่ยอมรับเรื่องนี้ ตัวอย่างเช่นคุณชัชวาลของบริษัท ดีไซน์ 103 ที่มีหัวก้าวหน้าก็ไปเรียนรู้เรื่องดีไซน์ เรื่องเทคโนโลยีอะไรหลายๆอย่าง แล้วนำมาพัฒนาบริษัทให้มีมาตรฐาน จนเรียกได้ว่าเป็นบริษัทที่มีการเขียนแบบได้มาตรฐานที่สุดในประเทศไทย ในสมัยนั้น”
“พอทำงานที่ ดีไซน์ 103 ได้ประมาณ 3 ปี ก็ออกมาทำงานเอง พอดีบ้านของภรรยาทำเรื่องต้นไม้อยู่ พอมาเยอะๆขึ้นเราก็ออกมาทำแบบเต็มตัว ร้านเป็นมา 30 ปีแล้ว ย้ายร้านมาเยอะ ตั้งแต่ รามคำแหง 36 ย้ายไปพัฒนาการ 26 จนมาถึงที่นี่เสรีไทย เหตุผลที่ย้ายไม่ใช่ขยายเพิ่ม แต่เป็นเพราะเราไปเช่าที่เขาอยู่ เขาจะเอาที่คืนเลยต้องย้าย”
“รุ่นพี่ผมที่เข้าสถาปัตย์จุฬาฯได้นี่สอบเข้าได้ที่หนึ่งเลยนะ แต่ว่าพอมาทำงานเขามีผลงานเป็นสถานีรถไฟสามเสน แต่หลังจากนั้นก็เขาก็เงียบหายไปเลย ดังนั้นงานในวงการสถาปนิกมันไม่ได้ง่ายๆ ดูแล้วมันน่าจะดี แต่พอถึงเวลาจริงๆแล้วมันแป๊กง่าย"

งานออกแบบที่ชอบที่สุดคือชิ้นไหน:
”งานสถาปัตย์ตอนที่ทำมันก็ไม่ได้มีโปรเจคอะไรที่มันน่าสนใจ ที่น่าสนใจที่สุดก็คงเป็นบ้านตัวเองนี่แหละ”

อุปสรรคสำคัญในการทำงาน:
“เจ้าของงานยังไม่มีความเข้าใจในวิชาชีพเราชัดเจน เจ้าของเราเห็นว่าเราเป็นแค่ที่ปรึกษาด้านการใช้งาน  แต่จริงๆแล้วการทำงานของเราไม่ได้มองแค่มิติเดียว ไม่ได้มองแค่อาคารนี้สามารถตอบสนองในเรื่องที่เขาอยากได้ เรามองทั้งด้านความแข็งแรง ความงาม และยังต้องคิดเรื่องที่ว่ามีการตอบสนองที่ดีต่อสังคมด้วย อย่างน้อยก็บริบทรอบๆตัวมันเอง อีกอย่างหนึ่งก็คือ งานสถาปัตย์ไม่ควรจะตอบโจทย์เพียงแค่เจ้าของควรจะตอบโจทย์โลกทั้งโลกให้มันสอดคล้องเป็นเรื่องราวเดียวกัน ไม่ใช่อยากจะทำอะไรก็ทำ เหมือนกัน Zaha ที่ทำอาคารบิดไปโค้งมา แต่ทรัพยากรที่ลงทุนไปกับฟังก์ชันตรงนั้นนี่มันคุ้มค่ากันมั้ย อันนี้ลุงไม่เห็นด้วยที่ว่าเราจะต้องทำอาคารที่ต้องลงทุนกันมหาศาล เอาทรัพยากรไม่ว่าเหล็ก หิน ทราย หรือผู้คน ไปทำมิวเซียมซักอันนึง เราก็ไม่รู้ว่าสิ่งที่ได้กลับมานั้นมันคืออะไร? แต่หลายคนก็มองว่าเป็นก็เป็นเหมือนแม่เหล็กดูดคนให้เข้าไปตรงนั้น แต่มันคุ้มค่ามั้ยกับการที่คุณทำงานที่มีมูลค่าขนาดนั้น แต่ยังไม่แน่ใจเลยว่ามันสามารถจะตอบโจทย์ว่าจะทำให้ผู้คนสนใจขึ้นมาได้รึเปล่า”
“จริงๆแล้วสถาปัตยกรรมไม่ได้ตอบโจทย์ทางด้าน Marketing เลยนะ สมมติเรามองซีคอนสแควร์เทียบกับเสรีเซ็นเตอร์ในสมัยนั้น เสรีเซ็นเตอร์ในความคิดของลุงคือมันออกแบบได้ดีทุกอย่างดีหมดเลย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ นี่คือสถาปัตยกรรมไม่ได้ตอบ Marketing คนที่ลงทุนต้องการจะตอบ Marketing แน่ๆ แต่ก็ไม่มีอะไรแน่นอน เพราะฉะนั้นการลงทุนบางทีมูลค่ามันก็มหาศาลเกินไป แต่ในปัจจุบันก็มีสถาปัตยกรรมที่ยิ่งแล้วใหญ่ คือ ลงทุน 10 ปี แล้วทุบทำใหม่เลยก็มี นี่ก็เป็นเรื่องของสถาปัตยกรรมที่เราต้องคิดว่าต้องสร้างงานให้มัน Sustainable คิดให้ดีว่ามันคุ้มรึเปล่ากับการลงทุนเดี๋ยวนี้คนอาจจะคิดเรื่องนี้ไม่มาก เพราะฉะนั้นงานสถาปัตยกรรมสมัยใหม่เนี่ย เป็นรูปแบบฟรีฟอร์ม ไม่มีโครงหรือความเป็นแก่นแกนของสถาปัตยกรรมเลย มันเป็นอะไรก็ไม่รู้ที่ลื่นไหล ลุงเรียกว่ามันเป็น กราฟฟิคอาคีเทค คืออาคารที่ไม่สนใจว่าสภาพแวดล้อมจะเป็นยังไง กูจะตั้งของกูอย่างนี้ แล้วก็บอกว่านี้ คือ อนุสาวรีย์ พอคนมาเห็นมากๆเข้าก็ทำตามกันใหญ่
เด็กสถาปัตย์ลาดกระบังจบใหม่เป็นยังไงค่ะ:
ก็น่าจะเหมือนกับหลายๆสถาบันนะ คือขาด Detail ให้คิด Design น่ะเป็นเรื่องง่าย แต่ Detail Designสีเป็นเรื่องยาก เวลาคิดก็คิดไปเถอะเส้นโค้งทั้งหลายทั้งแหล่ แต่พอเข้า Detail เท่านั้นแหละ จะทำยังไงไม่ให้น้ำรั่ว จะทำยังไงให้กระจกมันเข้ากันได้พอดี บางทีความไม่ลงตัวมันก็ฟ้องอะไรหลายๆอย่างในตัวสถาปนิกรุ่นใหม่ๆ อาจจะแตกต่างกันต้องที่ว่า ลาดกระบังอาจจะถึกกว่า ทนกว่า เพราะเท่าที่ดูเด็กลาดกระบังเราไม่ค่อยเลือกงานที่จะทำ”
“กลัวเรื่องความรับผิดชอบของเด็กสมัยนี้มาก เพราะว่าความอดทนน้อย มีพี่ช่วยเยอะ เวลาทำงานจริงๆแล้วเนี่ยวิชาชีพนี้ไม่ใช่อะไรที่ง่าย ต้องใช้ความอดทนสูง และต้องใช้ความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาในการทำงาน เหมือนเวลาพวกเราทำโปรเจคน่ะ ประเภทไฟไม่ลนก้นไม่ยอมทำงาน จนเป็นกิจวัตร อันที่จริงก็ไม่ใช้นิสัยการทำงานที่ดีหรอกนะ
กลัวเด็กรุ่นใหม่ในเรื่องของการตัดสินใจ เพราะอาชีพเราเทียบกับหมอนี่ ความรับผิดชอบเรื่องชีวิตคนนี่เยอะนะ ตึกหลังหนึ่งมีคนอาศัยอยู่อย่างน้อยๆก็ 4-5 คนแล้ว แต่หมอนี่ทีละคน เวลาเรารับผิดชอบตึกถล่มหลังนึงเยอะเลยใช่มั้ย ดังนั้นเรื่องการรับผิดชอบและเรื่องทักษะการเรียนรู้นี่สำคัญ

วันอังคารที่ 5 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

เรือนขนมปังขิง (Ginger Bread Style)

เรือนขนมปังขิง (Ginger Bread Style)

เราคงคุ้นตากับสถาปัตยกรรมที่มีการประดับตกแต่งด้วยไม้ที่ฉลุด้วยลวดลายต่างๆ ทั้งบริเวณช่องลม ราวระเบียง เชิงชายหรือหน้าบัน แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่าสถาปัตยกรรมลักษณะนี้เรียกว่าสถาปัตยกรรมแบบ บ้านขนมปังขิง (Gingerbread Style) ซึ่งลักษณะเด่นของสถาปัตยกรรมลักษณะนี้ก็เป็นดังที่กล่าวไว้ข้างต้น คือ มีการประดับตกแต่งด้วยลวดลายไม้ฉลุต่างๆ ไว้ตามส่วนประกอบของอาคาร

 
ทำไมถึงเรียกขนมปังขิง???
ขื่อนี้แปลตรงตัวมาจากขนม "Ginger Bread" ที่ชาวยุโรปในบ้านเรามักจะใช้ประดับในขนมบ้านตุ๊กตาฉลองในเทศกาลคริสต์มาส  ซึ่งตุ๊กตาและลวดลายประดับอยู่บนบ้านตุ๊กตามีรูปทรงลักษณะละเอียดละออ เป็นเส้นโค้งหงิกงอคล้ายแง่งขิง  พอนำมาประดับตกแต่งอาคารที่พักอาศัยจึงเรียกบ้านสไตล์นี้ว่า"บ้านขนมปังขิง" ตามชื่อ

เรือนขนมปังขิงมาจากไหน???
ต้นแบบนั้นมาจากบ้านสไตล์วิคตอเรียนในประเทศอังกฤษ และได้แพร่หลายเข้ามาในประเทศของเราหลังจากที่ชาวต่างชาติเริ่มเข้ามามี บทบาทในประเทศช่วงราวรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา โดยเริ่มต้นจากที่รัชกาลที่ 4 ทรงศึกษาภาษาอังกฤษและติดต่อค้าขายกับต่างชาติ และทรงสร้างเรือนปั้นหยาไว้ในเขตพระราชวังต่างๆก่อน จุดเด่นของหลังคาปั้นหยาคือ ชายคาที่คลุมรอบ 4 ด้าน ต่างจากเรือนไทยเดิม ซึ่งเป็น ชายคา 2 ด้าน มีหน้าจั่ว จากเรือนปั้นหยาก็วิวัฒนาการมาเป็นเรือนมนิลา มีจั่วด้านหน้า 1 ด้าน และชายคาคลุม 3 ด้าน แล้วต่อมาก็มีการสร้างบ้านพักของสถานทูตฝรั่งเศส เป็นบ้านสไตล์วิคตอเรียน ที่สร้างในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 ประดับตกแต่งด้วยฉลุไม้ที่ระเบียงและส่วนต่างๆของบ้าน ซึ่งชาวไทยเองก็ชื่นชอบความงดงามของลวดลายไม้แกะสลักจนเกิดเป็นกระแสนิยมนำเอา ลวดลายขนมปังขิงมาประดับที่บ้านเรือนของเราบ้าง โดยความนิยมนั้นก็เริ่มต้นขึ้นจากพระราชวัง บ้านขุนนาง เศรษฐี คหบดี และตามวัดวาอารามต่างๆความนิยมก็มาสู่พ่อค้า คหบดี ในช่วงนั้นกรุงเทพฯ ก็จะมีบ้านในสไตล์นี้สร้างตามกันมามากมาย รวมทั้งรูปแบบที่เน้นการประดับลวดลายฉลุไม้ ที่เรียกว่า เรือนขนมปังขิง


แม้จะนำแบบมาจากบ้านสไตล์ต่างประเทศ แต่ก็ใช่ว่าบ้านแบบขนมปังขิงนี้จะไม่เข้ากับประเทศไทย เพราะลวดลายแกะสลักนั้นทำหน้าที่เป็นช่องลมได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังมีความอ่อนช้อยงดงามเหมาะกับความประณีตละเอียดอ่อนของคนไทยอีกด้วย บางหลังก็มีการดัดแปลงเป็นลายไทยแทนลายฝรั่งทำให้เกิดความงดงามมากขึ้นไปอีก บ้านแบบนี้จึงได้รับความนิยมอย่างสูง มาตั้งแต่นั้น นอกจากบ้านแล้ว งานในลักษณะนี้ยังมีการดัดแปลงมาทำเฟอร์นิเจอร์ต่างๆอีกด้วย จนถึงช่วงปลายรัชกาลที่ 6 ความนิยมก็เริ่มซาลง ไม้เริ่มมีราคาแพงขึ้น ความนิยมเริ่มเปลี่ยนไป เป็นเน้นการออกแบบหลังคาซ้อน หรือจั่วตัดแทน จนในสมัยรัชกาลที่ 7 บ้านก็เข้าสู่ยุคสมัยใหม่ มีรูปแบบเรียบง่าย ลดความหรูหราฟุ่มเฟือยออก ก็คงจะอิทธิพลของการปฏิวัติอุตสาหกรรมของทางตะวันตกนั่นเอง และการเปลี่ยนแปลงก็ยังมีเรื่อยมา จนในสมัยนี้บ้านขนมปังขิงที่หลงเหลืออยู่บ้าง ก็ทรุดโทรม รื้อถอนไปมาก จนหาชมได้ยาก เพราะความเจริญรุกรานมาเรื่อย การบูรณะซ่อมแซม ทำยากและค่าใช้จ่ายสูง จนไม่คุ้มที่จะเก็บรักษาหรืออนุรักษ์ไว้ใช้งาน แต่บ้านที่ยังหลงเหลืออยู่นั้น คนสมัยนี้ที่ไม่รู้ประวัติ ก็จะคิดว่าเป็นบ้านไทยโบราณแบบหนึ่ง

แตกต่างกันตรงไหน???
ความแตกต่างของรูปแบบบ้านขนมปังขิง ว่าแตกต่างกับรูปแบบโคโลเนียลและชิโนโปรตุกีสอย่างไร อาคารทั้งสามแบบเป็นอาคารที่ได้รับอิทธิพลมาจากตะวันตกทั้งสิ้น โดยรูปแบบบ้านขนมปังขิงนั้นจะมีจุดเด่นตรงที่ประดับประดาอาคารด้วยไม้ฉลุลวดลายต่าง ทั้งบริเวณหน้าจั่ว ชายคา ค้ำยัน ช่องลม สถาปัตยกรรมรูปแบบของชิโนโปรตุกีสนั้นจะเป็นลักษณะของตึกแถว เป็นการผสมกันระหว่างสถาปัตยกรรมของโปรตุเกสและจีนเข้าด้วยกัน สุดท้ายเป็นลักษณะของอาคารสไตล์โคลโลเนียล จะเป็นลักษณะที่กว่าที่สุด เพราะสไตล์โคโลเนียลนั้นมีหลากหลายขึ้นกับชาวต่างชาติที่มาสร้างไว้ มีทั้งสไตล์อังกฤษ ฮอลันดา ฝรั่งเศส สเปน เป็นต้น


ตัวอย่างรูปแบขนมปังขิง ชิโนดปรตุกีส และโคโลเนียล ตามลำดับ
 
ขนมปังขิงในประเทศไทยอยู่ที่ไหนบ้าง???
รูปแบบของเรือนขนมปังขิงในประเทศไทยปรากฏให้เห็นอยู่ทั่วไป ซึ่งโดยส่วนใหญ่แล้วจะเป็นบ้านของคหบดี หรือเชื้อพระวงศ์ เนื่องจากเป็นอาคารที่ต้องใช้ช่างฝีมือในการก่อสร้าง และบำรุงรักษายาก ตัวอย่างเรือนขนมปังขิงในประเทศไทย เช่น
พระที่นั่งวิมานเมฆ
พระที่นั่งองค์นี้ ได้รับอิทธิพลจากสถาปัตยกรรมยุโรป ผสมกับไทยประยุกต์ องค์พระที่นั่งเป็น มี 4 ชั้น ชั้นล่างสุดก่ออิฐ ถือปูน ชั้นถัดขึ้นไปสร้างด้วยไม้สักทองทั้งหมดทาด้วยสีครีมอ่อนหลังคาสีแดง และหลังคาเป็นทรงไทยประยุกต์ มีลวดลายตามหน้าต่าง และช่องลมซึ่งฉลุเป็นลาย


 

พระที่นั่งอภิเศกดุสิต
 เป็นพระที่นั่งองค์แรกๆ ที่สร้างขึ้นในเขตพระราชวังดุสิต เป็นพระที่นั่งชั้นเดียว ประดับไปด้วยสร้างด้วยไม้เป็นส่วนมาก มีลวดลายฉลุไม้เรียกว่า ลายบุหงา มีการประดับกระจกสี และลวดลายปูนปั้นที่หน้าบัน



พิพิธภัณฑ์บ้านเอกะนาค มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
บ้านเรือนไทยทรงปั้นหยา อาคาร 2 ชั้น ครึ่งตึกครึ่งไม้ ชั้นล่างก่ออิฐถือปูน ชั้นบนเป็นไม้ หลังคามุงกระเบื้องว่าว ด้านซ้ายของอาคารมีโปร่งยื่นออกมาแบบพระที่นั่งวิมานเมฆ ซึ่งถือเป็นแบบที่ได้รับความนิยมมากในสมัยนั้น ลักษณะของการก่อสร้างได้รับอิทธิพลจากตะวันตกผสมผสานลวดลายฉลุ


ตำหนักเพ็ชร วัดบวรนิเวศวิหาร
ตั้งอยู่ขวามือเมื่อเข้าจากหน้าวัด เป็นตำหนัก สองชั้นแบบตึกฝรั่งปนไทย มุขหน้าประดับด้วยลวดลายไม้ฉลุงดงาม
ตำหนักนี้ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้า เจ้าอยู่หัว ทรงสร้างถวายเป็นท้องพระโรง ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยา วชิรญาณวโรรส




เรือนขนมปังขิงนี้เป็นรูปแบบสถาปัตยกรรมที่มีการพัฒนารูปแบบจนกลายเป็นอีกหนึ่งรูปแบบสถาปัตยกรรมของไทย เราจึงควรที่จะอนุรักษ์เรือนลักษณะนี้ที่ยังหลงเหลืออยู่ไว้ เนื่องจากปัจจุบันเรือนขนมปังขิงมีจำนวนน้อยลง เนื่องจากเป็นรูปแบบที่ต้องใช้ความประณีตในการก่อสร้างสูง ทำให้การบูรณะซ่อมแซมอาคารเก่าต้องใช้งบประมาณที่สูงไปด้วย


น.ส.นานา บุญรอดชู
52020044
อ้างอิงจาก:
http://atcloud.com/stories/71680
http://community.akanek.com/th/inspiration/ginger-bread-house-architecture-in-thailand
http://turtletanawan.blogspot.com/2010_09_01_archive.html
http://th.wikipedia.org/wiki/พระที่นั่งวิมานเมฆ
http://th.wikipedia.org/wiki/พระที่นั่งอภิเศกดุสิต
http://www.bloggang.com/viewblog.php?id=travelaround&date=17-03-2008&group=7&gblog=10
http://www.decorreport.com/a19384-บ-านขนมป-งข-ง-ginger-bread-style-house
http://www.komchadluek.net/detail/20120624/133512/บ้านเอกะนาค:ศูนย์กรุงธนบุรีศึกษา.html#.URE68fJ5Agk
http://www.manager.co.th/Travel/ViewNews.aspx?NewsID=9530000033251
http://www.oknation.net/blog/print.php?id=810945

วันจันทร์ที่ 26 พฤศจิกายน พ.ศ. 2555

วิชาชีพสถาปนิกในทัศนคติของข้าพเจ้า



วิชาชีพสถาปนิกในทัศนคติของข้าพเจ้า


การที่ได้มาเรียนในคณะนี้ คำนิยามที่ใกล้เคียงที่สุด น่าจะเป็นคำว่า “บังเอิญ” คำว่าบังเอิญในที่นี้ ไม่ได้หมายความว่า “พลาด” ที่เข้ามา แต่มันเกิดจากอะไรหลายๆอย่าง ถ้าจะให้เริ่มเล่าคงต้องเริ่มจากสมัยก่อนนู้น ตั้งแต่พอเริ่มจำความได้เลยแล้วกัน 


ชีวิตนี้เริ่มวาดรูปตอนไหน? จำความได้ก็นั่งดูพี่ชายวาดรูป สักพักเราก็เริ่มละเลงเลียนแบบไปตามฝาผนังบ้าน โตขึ้นอีกนิดจากฝาบ้านก็กลายเป็นหนังสือเรียน จำได้แค่ว่าชอบวาดรูปเท่านั้นจริงๆ ยังไม่มีคำว่า “สถาปนิก” อยู่ในหัวเลย


เริ่มรู้จักอาชีพนี้ตอนมัธยมปลาย บังเอิญได้ไปอยู่บ้านสถาปนิกและผู้รับเหมาก่อสร้างมาปี บ้านเขาเหมือนกับห้องสมุดหนังสือเรื่องบ้านยังไงยังงั้น เต็มชั้นไปหมด จากมองผ่านๆก็เริ่มหยิบมาดูพลิกไปพลิกมา อ่านแล้วไม่เข้าใจ รู้ว่ารูปสวยแค่นั้น แต่ก็เริ่มบันทึกอาชีพนี้ไว้ในสมองแล้วว่า “น่าสนุก”
 

ชีวิตถึงจุดเปลี่ยนตอนสอบแอดมิดชั่น ไม่ได้สอบตรงเพราะไม่ตั้งใจเข้าสถาปัตย์เท่าไหร่ แต่ก็ลองสอบความถนัดไว้ อยากลองดูว่าการวาดรูปอย่างจริงจังเป็นยังไง แต่ทำไมมันบังเอิญได้คะแนนมากกว่าวิชาที่ตั้งใจไว้ก็ไม่รู้ พอถึงตอนเลือกอันดับ ความคิดอยากลองเรียนคณะนี้มันก็มีอยู่ในหัวแล้ว แต่มันติดตรงที่เราไม่เคยเรียนมีพื้นฐานเลย แต่ก็เลือกไว้เพราะไม่รู้จะเลือกอะไร ยังไงคงไม่ติดหรอก เพราะคะแนนมันสูงสุดเลยจากอันดับที่เลือก....บังเอิญติดซะงั้น


ไหนๆก็บังเอิญติด ก็ลองเรียนดูสักตั้งนึง เข้ามาเรียน ชีวิตแรกเริ่มแอบลำบาก เราไม่มีพื้นฐานเลยนี่นา เริ่มจากศูนย์ กว่าจะตามเขาทันเหนื่อยเหมือนกัน แต่ก็ไม่ลำบากมากกว่าที่คิด ปีแรกน้องใหม่ แอบตื่นเต้นกับโลกใหม่ เจอเพื่อนใหม่ สังคมใหม่ เจอรุ่นพี่ใหม่ๆ ตอนนั้นดูเบลอๆเขาสั่งอะไรก็ทำหมด เป็นปีที่มีเวลาว่างมากที่สุด ไม่มีข้อจำกัดมากมาย งานสร้างสรรค์ได้เต็มที่ ชีวิตมีความสุข 


ปีสองเริ่มเป็นพี่ สนิทกับเพื่อนมากขึ้น ทำกิจกรรมอะไรก็ดูสนุกกว่าเมื่อก่อน เขาว่ากันว่าปีนี้งานเยอะ แต่เราแทบไม่รู้สึก ทำไมไม่รู้


ปีสามเริ่มรู้สึกว่าว่างอีกครั้ง เหมือนงานมันน้อยลง หรือเราปรับตัวได้ก็ไม่ทราบ แต่มีเวลาว่างพอจะหายตัวไปเที่ยวไหนต่อไหนหลังเลือกเรียนได้ เหมือนได้ใช้เวลานอกห้องเรียนกับเพื่อนมากขึ้น
 

ปีสี่ที่เรียนอยู่ เขาว่าหินก็หินจริงๆ เหมือนเอาทุกวิชาที่เรียนบ้างไม่เรียนบ้างตั้งแต่ต้นมาประยุกต์ใช้ทั้งหมด ใครทำกรรมดีก็ได้ดี ใครทำกรรมชั่วก็ได้ชั่ว เหมือนเราเป็นพวกกรรมกลางๆ จำได้บ้างไม่ได้บ้างต้องทวนอีกเยอะ จนกระทั่งตอนนี้ เหมือนชีวิตต้องจัดสรรเวลามากขึ้น เวลาเล่นน้อยลง ท่าทาง ”ต้องเริ่มเป็นผู้ใหญ่” แล้วสิ


กว่าจะกลายเป็นผู้ใหญ่ต้องเรียนจบ กว่าจะเรียนจบต้องทำทีสิส เป้าหมายอยากทำโรงเรียน ไม่รู้เหตุผลแท้จริง รู้แค่อยากทำ งานอดิเรกเราคือกินอาหารอร่อย ชอบทำนิดหน่อย ใครๆก็อยากกินของอร่อยทั้งนั้น เลยคิดว่าทำโรงเรียนสอนทำอาหารท่าจะดี เหมือนเราได้ผลพลอยได้จากการเรียน ทำแล้วมีความสุขเหมือนทำงานอดิเรก มีเหตุผลทางวิชาการรองรับอยู่เหมือนกันว่าควรทำโรงเรียนสอนทำอาหาร แต่เหตุผลมากจากความอยากล้วนๆ
 
ถ้าได้เรียนจบอย่างมีความสุข อยากทำอาชีพสถาปนิกต่อ ไม่ต้องถึงกับเป็นเจ้าของบริษัท เพราะรู้ว่าตัวเอาไม่มีหัวการค้าหรือบริหารธุรกิจ อยากเป็นลูกจ้างบริษัทเล็กๆ แต่ของมั่นคงหน่อย อย่าถึงกับให้ลุ้นทุกสิ้นเดือนว่าจะมีเงินเข้ามั้ย อีกใจหนึ่งก็อยากจะเรียนต่อเหมือนกับชีวิตนี้ยังอยากเรียนต่อ อาจจะเป็นการตลาดหรือไม่ก็เรียนสายสถาปัตย์ต่อ คงต้องรออนาคต


การทำงานในอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน แต่ที่แน่ๆที่ทำงานในฤดูร้อนที่จะถึงนี้ต้องเป็นฤดูการฝึกงานอย่างแน่นอน ยังไม่แน่ใจว่าจะได้ฝึกที่ไหน ฤดูร้อนสองปีที่ผ่านมาเคยฝึกกับบริษัทเล็กๆมาแล้ว ถ้าเป็นไปได้ก็อยากหาประสบการณ์กับบริษัทใหญ่ดูสักครั้ง เผื่อว่าระบบการทำงาน การวางแผนงาน โปรเจคการออกแบบจะแตกต่างไปจากที่เคยทำมา จะได้เปรียบเทียบกันว่าคิดถูกหรือไม่ว่าถ้าจบแล้วอยากทำบริษัทเล็กๆ


ถ้าเลือกได้ ชีวิตนี้อยากทำงานและมีชีวิตอยู่แบบอาจารย์จิ๋ว รศ. วิวัฒน์ เตมียพันธ์ เพราะท่านเป็นคนที่มีความรู้ ความสามารถ แต่ไม่เคยอวดรู้ ใช้ความสามารถที่มีอยู่สั่งสอนลูกศิษย์ ไม่เฉพาะแต่ความรู้ แต่ยังสอนการใช้ชีวิต ท่านใช้ชีวิตเพื่อทำงานที่รักมาตลอด  เป็นชีวิตที่น่ายกย่อง น่านับถือ และน่าอิจฉาไปพร้อมๆกันว่าสักวันหนึ่ง เราจะเป็นได้อย่างท่านรึเปล่า ผลงานสถาปัตยกรรมที่ชอบนั้น ส่วนใหญ่เป็นงานสเกลเล็กๆ จำพวกบ้าน เพราะชอบตรงที่ต้องใจความละเอียดอ่อนในการออกแบบ อีกทั้งยังเป็นสถาปัตยกรรมที่สัมผัสกับชีวิตคนเราโดยตรง เช่น บ้านของ Frank Lloyd Wright, Eames House ฯลฯ ซึ่งเป็นงานที่คนสามารถใช้ชีวิตอยู่ในนั้นได้จริง ไม่ตามใจสถาปนิก


คุณพ่อก็เป็นส่วนหนึ่งของกำลังใจในการเรียนตลอดมา ถึงสายงานท่านจะไม่สามารถสอนเราได้ทางตรง ด้านการออกแบบสถาปัตย์ แต่เรื่องงานระบบต่างๆภายในอาคาร พ่อรู้มากกว่าเราอีกเพราะท่านเป็นวิศวกร ถึงแม้บ้างครั้งพ่อจะสอนลึกจนเกินความเข้าใจ แล้วเราทำหน้างงๆไปบ้างบางครั้ง แต่ก็รู้สึกขอบคุณคุณพ่อมากๆ สำหรับความรู้และกำลังใจที่มีให้

เรียนจบแล้ว ทำงานแล้ว เราคงเป็นจุดเล็กๆของสังคมที่อย่างน้อยไม่ขอบุกรุกอุทยานแห่งชาติ ตัดต้นไม้ทั้งเกาะ หรือระเบิดภูเขาเพื่อสร้างรีสอร์ท บ้านพักตากอากาศให้คนที่เขาเห็นแก่ตัวก็พอแล้ว

นานา บุญรอดชู
52020044